ในโอกาสครบรอบ 50 ปีแพทยสภา คณะทำงานสื่อสารสังคมในโอกาสครบรอบ 50 ปี แพทยสภาได้จัดทำการ์ตูน "ด็อกเตอร์ซีรีส์" จำนวน 12 ตอน เพื่อ สร้างความเข้าใจ เชื่อใจ และเห็นใจ ซึ่งกันและกันด้วยความจริงใจ ภายใต้หลักการ Trust "แพทยสภา ตั้งใจ ใส่ใจ จริงใจ" ผ่านการเผยแพร่ทางการ์ตูน "ด็อกเตอร์ซีรีส์"
1.ตอน หมอผ่าตัด

บทความ.. ชีวิตกลางคืน ของหมอผ่าตัด “ความจริง..ของหมอ” กว่าครึ่งของผู้ป่วยอุบัติเหตุในยามค่ำคืน ล้วนมีสาเหตุจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งจากความประมาท โชคร้าย หรือเป็นเหยื่อจากกลุ่มเมาแล้วขับ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องได้รับการผ่าตัดช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน หมอแต่ละคน อาจต้องผ่าตัดคนไข้หนักคืนละ 3-5 ราย ตารางชีวิตของคนเป็นหมอโดยทั่วไป เริ่มตั้งแต่เช้าออกตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วย จากนั้นจึงออกตรวจผู้ป่วยนอก ผ่าตัดหรือทำหัตถการคนไข้ที่นัดไว้ ตกเย็น..ออกตรวจที่หอผู้ป่วยในอีกครั้ง ถ้าวันใดต้องอยู่เวรกลางคืน นั่นแปลว่าวันนั้นจะต้องทำงานข้ามวันข้ามคืน 24 ชั่วโมง และอาจต้องทำงานต่อเนื่องถึง 72 ชั่วโมง! (ในเวรวันหยุด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์) การผ่าตัดผู้ป่วยหนักจากอุบัติเหตุแต่ละราย มักจะใช้เวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน หลังผ่าตัดเสร็จต้องประเมินคนไข้ว่าปลอดภัยแน่ จึงเป็นเวลาที่หมอโล่งใจและได้พักเสียที หมอไทยจึงเป็นวิชาชีพหนึ่งที่จำต้องอดนอนเยอะมาก กลางวันรับผิดชอบรักษาคนไข้ในและนอก รวมถึงผ่าตัด-หัตถการ ส่วนกลางคืนอยู่เวรเพื่อรอดูแล ผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ หลายคนอาจถามว่า แล้วหมอจะมีสภาพที่พร้อมทำงานจริงหรือ คำตอบคือ มีสิ เพราะหมอจะหาจังหวะ “งีบพัก” ในช่วงที่ปลอดงานหรือรอยต่อ ระหว่างรอผ่าตัด หรือรอดูคนไข้รายต่อไป เพื่อชาร์ตแบทตัวเอง ให้มีพลังเพียงพอที่จะดูแลคนไข้อุบัติเหตุและฉุกเฉินให้ได้ตลอดทั้งคืน และรวมถึงการช่วยชีวิตผู้ขับขี่และเหยื่อที่มาจากเมาแล้วขับหลังออกเวรดึก จึงเป็นช่วงเวลาที่หมอเหนื่อยล้าสุดๆ ที่อาจเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางกลับบ้านได้ คุณอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมหมอไม่หยุดพัก คำตอบง่ายๆ คือ ในหลายพื้นที่เรายังมีหมอไม่เพียงพอต่อผู้ป่วย หากหมอหยุดแล้วผู้ป่วยก็จะไม่ได้รับการรักษา เกือบทุกปี เราต้องสูญเสียหมอจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นความสูญเสียทั้งต่อครอบครัวหมอ วงการแพทย์ และประเทศชาติ เพราะกว่าแพทยสภาจะผลิตหมอได้สักคน ให้พร้อมทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องใช้เวลานับสิบปี 6 ปีแรกเรียนแพทยศาสตร์ เพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ใช้ทุนอีก 2 ปี เรียนต่อแพทย์เฉพาะทางอีก 3-5 ปี ตลอด “ชีวิต” ของหมอ 1 คน จะสามารถช่วยผู้ป่วยได้มากถึง 1.5-2 แสนครั้ง..หากเขามีอายุยืนยาวถึงเกษียณ ตัวเลขจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 สิงหาคม 2561 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปแล้ว 9,550 คน และมีคนบาดเจ็บถึง 585,852 คน ซึ่งจำนวนมากเกิดจาก “เมาแล้วขับ” ผู้บาดเจ็บทั้งหมดล้วนต้องการ "หมอ" เพื่อมาช่วยเยียวยารักษาชีวิต “เมาแล้วขับ” จึงไม่เพียงทำลายชีวิตคุณ และ ชีวิตคนอื่นบนท้องถนน แต่อาจทำร้าย “ชีวิตหมอ” ที่กำลังจะต้องไปช่วย “ชีวิตคนอื่น”...ซึ่งอาจเป็นคนที่คุณรัก..

2.ตอน ไม่มีที่ยืน

#ใครคือคนให้ที่ยืน?? ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ประเทศไทยเรา ณ วันนี้ มีผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตมากถึง 7 ล้านคน หรือเกินกว่า 10% ของประชากรในประเทศ แล้วชีวิตเขาเหล่านั้นจะเป็นยังไง เมื่อเราป่วยกาย เป็นไข้ ตัวร้อนนอนซม เพื่อนฝูงคนรอบข้างจะบอกว่า โถ..น่าสงสาร แต่เมื่อเราป่วยทางใจ ตัวไม่ร้อนแต่ต้องนอนซม คนรอบข้างกลับบอกว่า ทำไมขี้เกียจ ทำไมอ่อนแอ ความเจ็บป่วยทางใจเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เป็นภาวะที่สารสื่อประสาทมีความผิดปกติ ไม่สมดุล อาจรักษาได้ด้วยยา และวินัยในการทานยาที่ต่อเนื่อง และสามารถหายป่วยจนกลับคืนสู่สังคมได้ดังเดิม แล้ว..ทำไม ผู้ป่วยทางใจจึงเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ ตัวเลขของกรมสุขภาพจิตปี 2560 ระบุว่า คนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิต ประมาณ 7 ล้านคนเศษ แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลักๆ คือ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ความบกพร่องทางสติปัญญา และผลแทรกซ้อนมาจากสิ่งเสพติด นี่ยังไม่นับกลุ่มเครียด ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากจนแทบจะเดินชนกันบนสถานีรถไฟฟ้า ความไม่เข้าใจ ไม่ยอมเปิดใจ และกลัวผู้ป่วย คือสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยทางใจ #ไม่มีที่ยืน แม้จิตแพทย์จะเป็นผู้รู้ที่สามารถรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้นหรือหายได้ แต่.... หมอเป็นเพียงผู้รักษา แต่ญาติและเพื่อนต่างหาก คือผู้ที่จะช่วยประคับประคอง ให้ผู้ป่วยทางใจที่ภาวะข้างในพัง ฟิ้นคืนกลับมาได้อีกครั้ง สังคมและสื่อก็ไม่ควรซ้ำเติม เย้ยหยัน ด้วยการโพสท์ข้อความตีตราบาป เปิดใจ เข้าใจ ด้วยใจ ให้พวกเขาได้กลับมามีที่ยืนในสังคมกันเถอะ เราทุกคนช่วยกันได้จริงๆ แค่แชร์โพสท์นี้ก็ช่วยแล้ว

3.ตอน ใจร้ายใจดำ

ไม่ว่าโลกจะล้ำไปไกลแค่ไหนเราก็ยังมีชายไทยที่ “ใจร้าย” และ “ใจดำ” “ใจร้าย” เพราะไปฉีด“น้องชายตัวเอง” ให้ใหญ่ด้วยสารแปลกปลอมโดยหารู้ไม่ว่า อีกไม่นาน น้องจะต้องเน่า!“ใจดำ” เพราะปล่อยให้น้องชายป่วยคอตก! โดยไม่พาไปรักษา? คาดว่ามีชายไทย “ใจร้าย” นิยมฉีดสารเพิ่มขนาดอวัยวะเพศด้วยตัวเอง ปีละหลายพันคน ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20-30 ปีและนิยมฉีดกันในวงเหล้าแต่เพราะของเหลวที่ฉีดเข้าไปนั้นคือสิ่งแปลกปลอม ร่างกายจึงพยายามกำจัดออก ส่งผลให้อวัยวะเพศเป็นแผลพุพอง เป็นหนอง ติดเชื้อลุกลาม รูปร่างบิดเบี้ยว หงิก งอ จนอาจต้องเฉือนเนื้อส่วนที่เน่าทิ้ง! และบางรายอาจถึงขั้นถูกตัดน้องชาย! วิธีรักษา คือการผ่าตัด!คุณหมอจะผ่าเลาะเอาเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายออก นึกๆ แล้วก็คล้ายกับการแกะพลาสติกที่พันรอบไส้กรอก จากนั้นก็รวบดึงเอาน้องชายเข้าไปเก็บไว้ในอัณฑะ เหลือส่วนหัวยาว 1 นิ้วแล้วเย็บปิด!! เพื่อรอให้น้องชายซ่อมแซมตัวเองต่อไปอีก 6 เดือน จึงนัดมาผ่าตัดรอบสอง!! เพื่อเอาน้องชายกลับออกมาอยู่ข้างนอกเหมือนเดิม โดยในขั้นตอนนี้จะต้องใช้หนังจากส่วนอื่นของร่างกายมาแปะไว้และหลังการผ่าตัดความรู้สึกต่างๆ อาจไม่เหมือนเดิม! โอ้ว..แค่นึกก็เจ็บจี๊ด นี่คือคำเตือนจากความห่วงใยของ ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลสุขภาพน้องชาย ที่รวมไปถึงการรักษาอาการและโรคค่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับอวัยวะนี้ ทั้ง ปัสสาวะเป็นเลือด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก การบาดเจ็บที่ไต ฯลฯ ความนิยมในการฉีดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ เกิดมาจากความเชื่อผิดๆ ที่ฝังรากลึกอยู่ในสมองของชายไทยว่าขนาดยิ่งใหญ่ยิ่งให้ความสุขกับคู่นอนได้มาก ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่เกี่ยวกันเลย และขนาดมาตรฐานของชาวเอเชีย อยู่ที่ 3-5 นิ้ว มาถึงเรื่องของชายไทย “ใจดำ” กันบ้าง?? จากการศึกษาในชายไทยที่อายุ 40 - 70 ปี จำนวน 2,269 คนในปีพ.ศ. 2551 พบว่ามีปัญหาอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือนกเขาไม่ขันถึง 42 เปอร์เซ็นต์ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก “ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย” แต่เรื่องที่น่าตกใจกว่านั้นคือ มีแค่ 3เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ยอมมาพบแพทย์ ที่เหลืออีกกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ยังยอมจำนนอยู่กับปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทั้งจากความอายและความไม่รู้ จนปัญหาสุขภาพอาจลุกลามเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในตนเอง เสียสุขภาพจิต และกระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับคู่ครอง #ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย นอกจากจะทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวแล้ว ยังเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงโรคอื่นๆ ทั้งเบาหวาน หัวใจ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆจะมีความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดอุดตัน กระดูกพรุน และโรคคล้ายซึมเศร้า ข่าวดีคือ อาการเหล่านี้รักษาได้ โดยหมอศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ ที่มีอยู่ 500 คน ทั่วประเทศ มีนวัตกรรมทางการรักษาที่ก้าวไกล อาจแค่การพูดคุยปรับทัศนคติ ใช้ยา ใช้อุปกรณ์ช่วยรักษา หรือแม้กระทั่งการผ่าตัดใส่แกนเทียมเข้าไปด้านในอวัยวะเพศ หมอพร้อม ความรู้พร้อม เหลืออย่างเดียว ผู้ชายใจดำพร้อมหรือยัง เลิกอายได้แล้ว น้องชายขอร้อง ข้อมูลอ้างอิง: Increased prevalence of erectile dysfunction (ED): Results of the second epidemiological study on sexual activity and prevalence of ED in Thai males Sompol Permpongkosol, Apichat Kongkakand, Kirsada Ratana-Olarn, Anupan Tantiwong, Kavirach Tantiwongse & The Thai Erectile Dysfunction Epidemiological Study Group. Aging Male: Volume 11, 2008 - Issue 3. Pages 128-133

4.ตอน เป็นไข้ตายได้ไง

#เป็นไข้เลือดออก....ตายได้ไง ความจริงที่คนอาจยังไม่รู้ คือ จนถึงวันนี้ยังไม่มียาที่จะรักษาโรคนี้ได้โดยตรง!! สิ่งที่หมอทำได้คือ รักษาประคับประคองไปตามอาการเท่านั้น!! นอกจากนั้นหมอยังไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้เลยว่า อาการจะเป็นอย่างไร เชื้อจะไปจุดไหน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปฎิกิริยาการตอบสนองโรคของร่างกายแต่ละคน ซึ่งไม่เหมือนกันเลย ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่าคนไทยป่วยเป็นไข้เลือดออกสูงถึงกว่า 5 หมื่นคน และเสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 60 คน การป้องกันนอกจากต้องไม่ให้ยุงลายกัดแล้ว สิ่งสำคัญที่ประชาชนควรจะต้องรู้ก็คือ.. เมื่อโดนยุงลายกัดได้ 2-5 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นไข้ อาการทุกอย่างเหมือนเป็นไข้หวัด แต่จุดสังเกตคือ มักจะไม่มีอาการไอและไม่มีน้ำมูก ช่วงนี้คนไข้มักจะยังไม่มาโรงพยาบาล แต่ทานยาลดไข้เอง ซึ่งสามารถทานยาลดไข้พาราเซตามอลได้ หมั่นเช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ดื่มน้ำเกลือแร่และน้ำผลไม้บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ แต่..อย่าทานยาแอสไพริน และไอบูโพรเฟ่น (ibuprofen) เด็ดขาด!! เพราะถ้าคุณเป็นโรคไข้เลือดออก มันจะมีผลทำให้เกิดอาการเกล็ดเลือดผิดปกติและระคายเคืองกระเพาะอาหาร และหากทานยาลดไข้ไปสักวันสองวันแล้ว ไข้ก็ยังสูงหรือไม่ลด ควรรีบมาหาหมอ เพราะทั้งช่วงที่ไข้ขึ้นและไข้กำลังลด คือช่วงอันตรายที่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนจนทำให้เสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อในยุงลายที่ไปทำให้สารน้ำในเลือดรั่วออกมาหลอดเลือด ถ้าเป็นไม่มากการให้ยาและให้สารน้ำประคับประคอง ก็จะช่วยให้หายได้ แต่ถ้าร่างกายมีปฏิกิริยาต่อโรครุนแรง จะมีสารน้ำรั่วออกนอกหลอดเลือดมาก หลอดเลือดฝอยอาจจะแตก อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด และอาการจะรุนแรงยิ่งๆ ขึ้นจนส่งผลกระทบกับปอด คือสารน้ำที่รั่วออกมาจะไปทำให้เกิดน้ำท่วมปอด จนแลกเปลี่ยนอากาศไม่ได้ ออกซิเจนในเลือดไม่พอ เนื้อเยื่อสมองและอวัยวะต่างๆ ขาดออกซิเจน และเมื่อสารน้ำรั่วมากๆ ไตจะไม่ขับของเสีย เกิดภาวะไตวาย หายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด

5.ตอน คลอดลูกตายได้ไง

#ทุกการคลอดมีความเสี่ยง ณ วันนี้ยังมีแม่ที่ต้องเสียชีวิตจากการคลอดลูกในทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีความเจริญทางการแพทย์มากเพียงใดก็ตาม ข้อมูลล่าสุด ประเทศไทยมีการคลอดปีละกว่า 700,000 คน แต่มีแม่ผู้โชคร้ายที่เสียชีวิตจากการคลอดราว 100 คน สาเหตุหลักๆ 5 อันดับแรก คือ ตกเลือดหลังคลอด ติดเชื้อในกระแสเลือด ครรภ์เป็นพิษ ภาวะแทรกซ้อนของโรคทางอายุรกรรม และน้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอด ซึ่งอาการเหล่านั้นบางอย่างก็สามารถวินิจฉัยได้ล่วงหน้า ป้องกันจากหนักเป็นเบาได้ แต่บางอาการเป็นเรื่องของโชคชะตา!! เริ่มจาก..ตกเลือดหลังคลอด เป็นสาเหตุการตาย 1 ใน 3 ของการตายทั้งหมดของแม่ เกิดจากมดลูกไม่แข็งตัว มีการฉีกขาดของช่องคลอดมาก มดลูกแตก รกค้าง มารดามีเลือดแข็งตัวผิดปกติ และการท้องนอกมดลูก ฯลฯ ภาวะเหล่านี้ หากมีการฝากท้องที่ดี อาจสามารถป้องกันอันตรายได้บางส่วน เช่น ตรวจพบท้องนอกมดลูกระยะเริ่มแรกซึ่งยังไม่ตกเลือดในช่องท้อง ตามมาด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากการติดเชื้อโรค ไวรัส แบคทีเรีย ฯลฯ ในแม่ที่ภูมิต้านทานบกพร่อง หรือจากการดูแลหลังคลอดที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และการติดเชื้อจากการทำแท้ง สำหรับกรณีครรภ์เป็นพิษนั้น นับว่าอันตรายมาก หากเป็นชนิดรุนแรงความดันโลหิตสูงมาก การรักษามีเพียงทางเดียวคือ ต้องให้เด็กคลอดโดยเร็วที่สุด ไม่งั้นอาจสูญเสียทั้งแม่และลูก ส่วนภาวะแทรกซ้อนของโรคทางอายุรกรรม คือปัญหาด้านสุขภาพของแม่จากโรคต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง หอบหืด ลมชัก โรคปอด ไต ตับ มะเร็ง ลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจตีบ สามารถส่งผลให้เสียชีวิตได้ ทั้งในช่วงก่อนคลอด ระหว่างคลอด และ หลังคลอด ในบางกรณีเช่นโรคหัวใจ การไม่ตั้งครรภ์เลยจะเป็นการปลอดภัยที่สุด และอันดับสุดท้าย คือ น้ำคร่ำอุดหลอดเลือดที่ปอด เป็นภาวะซึ่งหมอไม่สามารถจะทำนายล่วงหน้าได้เลยว่าจะเกิดกับใคร หากเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อดคิดไม่ได้ว่ากว่าจะเป็นแม่คนได้นี่ มันช่างเสี่ยงอันตรายเหลือเกิน แต่แม่ก็ยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงเหล่านี้ได้ ด้วย การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์ ฝากครรภ์โดยเร็ว คือ ฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ และควรฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 3 เดือน ฝากครรภ์สม่ำเสมอ ไปตามหมอนัด ปฎิบัติตามคำแนะนำของหมอ ดูแลตัวเองให้ดี นับลูกดิ้น สังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง และควรคลอดลูกในสถานพยาบาลที่มีบุคลากรที่มีเครื่องมือพร้อม สามารถผ่าตัดได้ หรือส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว สุดท้าย..แม้จะทำทุกอย่างครบแล้ว แต่คงต้องขอให้เผื่อใจไว้สักนิด เพราะทุกการคลอดคือความเสี่ยง มนุษย์ยังแพ้ธรรมชาติ ยังไม่มีวิทยาการใดที่จะสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คำกล่าวทิ้งท้ายจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย..... “แม้ว่าเราจะดูแลคนไข้อย่างดีที่สุดแล้วก็ตามอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ แต่พวกเราก็ไม่ได้ย่อท้อหรือยอมแพ้ จะยังคงทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อคนไข้ทุกคน”

6.ตอน ฉุกเฉิน ฉุกเฉินกว่า

เชื่อมั้ย..ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน (ER) คือผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน!! ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ ER ถึง 35 ล้านครั้งต่อปี การที่มีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินอยู่เกินครึ่ง ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนอาจทำให้พิการ หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต และการมีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินจำนวนมาก ยังส่งผลให้ ER แออัด หมอและพยาบาลต้องทำงานเกินกำลัง จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังคนไข้ทุกคน โดยเฉพาะคิวการรักษา! เพราะว่านี่คือ # ห้องฉุกเฉิน (ER) ลำดับการรักษาในห้องนี้จึงไม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง! หรือพูดง่ายๆ คือมาก่อนอาจต้องรอนาน และต้องรักษาทีหลัง?? จนกลายเป็นดราม่าในโลกโซเชียล บ่อยครั้ง เพราะหมอมีความจำเป็นต้องให้การรักษากับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มา ER เป็นอันดับแรก “คุณเคยไป ER ตอนกลางคืน ด้วยสาเหตุเหล่านี้ไหม?” หนีรถติด ขี้เกียจลางานตอนกลางวัน ขอใบรับรองแพทย์ ไม่อยากรอคิวนาน รวมทั้งปวดหัวเป็นไข้ และเล็บขบ ฯลฯ ที่คนไข้ส่วนใหญ่ทำแบบนี้ อาจเป็นเพราะคิดว่า ER เปิดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้ ขอยืนยันว่านี่คือ ความเข้าใจผิด ที่เราทุกคนสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงได้ ยังมีดราม่าใน ER อีกเรื่องหนึ่ง คือ หมอเวรไม่รีบรักษา มัวแต่อยู่หน้าจอเล่นเฟสบุ๊คหรือเล่นเกมส์? นั่นเพราะคนไข้ยังไม่ทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยแก้ปัญหาการขาดแคลนหมอเฉพาะทางฉุกเฉินในพื้นที่โรงพยาบาลอยู่ห่างไกล ด้วยการใช้ระบบให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางไกล (Emergency Telemedicine) เป็นระบบการสื่อสารระหว่างหมอเวรเฉพาะทางฉุกเฉินของโรงพยาบาลระดับสูงรุ่นพี่กับหมอเวรห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลรุ่นน้องผ่านหน้าจอ ที่ช่วยให้คนไข้ฉุกเฉินเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที อย่างเท่าเทียมกัน ลดอัตราตายและพิการ ..ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลในผืนแผ่นดินไทย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตก็ใกล้หมอผู้เชี่ยวชาญได้เหมือนกัน อยากให้ผู้ป่วยที่ไป ER ทุกคนพึงตระหนักว่า ในบางครั้งที่เราต้องเสียเวลารอตรวจรักษา หมอเวรห้องฉุกเฉินอาจกำลังช่วยยื้อชีวิตของผู้ป่วยอีกคนอยู่ก็ได้ ดังนั้น..ทุกนาทีที่คุณต้องรอ จึงเป็นการให้โอกาสหมอได้ต่อลมหายใจคนอื่น “ ไม่ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช้ห้องฉุกเฉิน ช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต “

7.ตอน เปลี่ยนใจ

นี่คือสิ่งที่หมอต่างจังหวัดต้องเจอ แล้วจะไปกระทบกับประชาชนอย่างไร? วันนี้..เรามีหมออยู่ทั่วประเทศไทยกว่า 5 หมื่นคน แต่อยู่ในกรุงเทพฯ เกือบครึ่ง จึงส่งผลให้หมอที่เหลืออีกครึ่งต้องรับภาระที่หนักมากในการดูแลคนไข้ที่อยู่ในต่างจังหวัดทั่วทั้งประเทศ แม้ว่าจะสามารถผลิตหมอได้เพิ่มมากขึ้นถึง 3.5 เท่าในรอบ 20 ปีมานี้ คือ จากเดิมปี 2539 ผลิตได้ 869 คนต่อปี แต่ในปี 2559 ผลิตหมอได้เพิ่มเป็น 2,708 คนต่อปี และยังมีโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เพื่อช่วยลดความขาดแคลนของหมอในต่างจังหวัดอีก แต่..ปัญหาก็ยังไม่จบ? เพราะ 20 ปีมานี้ เพิ่มหมอได้ 3.5 เท่า แต่จำนวนคนป่วยกลับเพิ่มขึ้น 5 เท่า!! และประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว นั่นคือเรามีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 15.45 % ของประชากรในประเทศ ส่งผลให้มีจำนวนครั้งที่คนไข้มาหาหมอเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด คือ จากสมัยก่อนที่ยังหนุ่มสาวยังแข็งแรง อาจมาหาหมอแค่ปีละครั้ง แต่เมื่อเป็นผู้สูงอายุ เริ่มมีโรคประจำตัว อาจต้องมาหาหมอปีละ 12 ครั้ง นี่จึงเป็นปัญหาลูกโซ่ระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายในประเทศต้องช่วยกันจริงๆ หมอทุกคนร่ำเรียนมาเพื่อต่อสู้กับโรค แต่เมื่อเรียนจบเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง นอกจากต้องสู้กับโรคแล้วยังต้องต่อสู้กับภาวะความขาดแคลนด้วย! ทั้งขาดแคลนอุปกรณ์ ยา และงบประมาณ จนอัตราส่วนหมอที่ยอมไปอยู่ต่างจังหวัด เพิ่มไม่ทันคนไข้ ทำให้บางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กันดาร หมอหนึ่งคนอาจต้องดูแลประชาชนถึงกว่า 5 พันคน ในขณะที่อัตราส่วนทั้งประเทศอยู่ที่ 1: 1,300 คน เมื่อปัญหาทุกอย่างผูกกันมาขนาดนี้แล้ว จึงส่งผลให้การให้บริการประชาชนไม่ถูกใจอย่างที่คาดหวัง ถ้าจะบอกว่า..หมอในต่างจังหวัดต้องเสียสละจริงๆ คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง เพราะนอกจากต้องแบกรับภาระการรักษาคนไข้จำนวนมหาศาลแล้ว ยังต้องเสียสละความสุขสบายส่วนตัว เสียโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพและการหารายได้ รวมทั้งเสียสละโอกาสที่จะได้อยู่ดูแลพ่อแม่ของตัวเอง หมอทุกคนจึงต้องการกำลังใจ โดยเฉพาะจากประชาชนในชุมชน ด้วยการดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น เพื่อลดการป่วยให้น้อยลง มองการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน อย่างเข้าใจกัน เชื่อใจกัน และร่วมมือร่วมใจกัน เพราะความเข้าใจของประชาชน จะเป็นกำลังใจที่ดีที่สุด ให้หมอได้ต่อสู้ต่อไป

8.ตอน แซงคิว

เมื่อประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลก จะส่งผลกระทบต่อทุกคนและประเทศชาติอย่างไร สถิติล่าสุด ปี 2560 เรามีอุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้น จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 2 หมื่นคน บาดเจ็บอีกเกือบ 1 ล้านคน!!! (ข้อมูลจากมูลนิธิ เมาไม่ขับ) เป็นที่แน่นอนว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะถูกจัดลำดับการรักษาเป็นอันดับแรก เพราะมักจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต พวกเขาจึง “แซงคิว” คนไข้รายอื่นโดยไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นคิวเอ็กซเรย์ คิวห้องผ่าตัด คิวหมอ หรือแม้กระทั่งคิวการใช้เลือดในคลังเลือดของโรงพยาบาล และบ่อยครั้งการแซงคิวของพวกเขา ก็ทำให้ต้องมีการเลื่อนคิวผ่าตัดของคนไข้รายอื่นๆ ทั้งที่โรงพยาบาลได้นัดหมายไว้ก่อนหน้า คนไข้จึงอาจเกิดความไม่เข้าใจรวมทั้งเสียความรู้สึก ในปี 2560 สปสช.ได้รับงบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้ในการรักษาพยาบาลประชาชนเฉลี่ยหัวละประมาณ 3 พันบาท โดยส่งงบไปให้ทุกโรงพยาบาลในระบบเหมาจ่าย นั่นหมายความว่าถ้ามีคนไข้อุบัติเหตุเจ็บหนักจำนวนมาก งบประมาณที่ต้องใช้ไปเพื่อรักษาคนไข้กลุ่มนี้ อาจส่งผลทำให้โรงพยาบาลขาดทุนได้ แล้วคุณคิดว่า คนไข้จากอุบัติเหตุต้องใช้งบในการรักษาต่อคนเท่าไหร่หรือ และถ้าเกิน 3 พันบาทต่อหัว ส่วนต่างนั้นน่าจะถูกดึงมาจากสิทธิในการรักษาของใคร จากสถิติในช่วง 7 วันอันตราย พบว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ 5 อันดับแรก คือ เมาแล้วขับ หลับใน ขับรถเร็ว ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร และ ขับรถประมาท ซึ่งคือฝีมือมนุษย์ล้วนๆ คาดการณ์กันว่าเราสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุที่บาดเจ็บและพิการ ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละปีเลยทีเดียว ฉะนั้น..ทุกครั้งที่คุณขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร คุณจึงไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเจ็บป่วยให้กับตัวเองเท่านั้น แต่คุณกำลังเพิ่มภาระในการรักษาพยาบาลให้กับประเทศ และยังไปเบียดบังสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพที่ดีจากประชาชนคนไทยคนอื่นๆ อีกด้วย ไม่ขับรถมักง่าย ไม่ประมาท ก็มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขไทยแล้ว

9.ตอน โค้งสุดท้าย

เมื่อคนไข้ป่วยหนักด้วยโรคที่รักษายาก บ่อยครั้งที่..ความต้องการและเสียงเรียกร้องของเขาจะไม่มีใครได้ยิน นั่นเพราะทุกคน กำลังพุ่งเป้าหมายไปที่การจัดการโรค..ให้หาย มากกว่าการจัดการชีวิต..ให้มีคุณภาพ Palliative care หรือ การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง หรือบางโรงพยาบาลอาจเรียกว่า ชีวาภิบาล เป็นวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคที่รักษายาก ไม่ใช่การรักษาเพื่อยื้อชีวิต แต่เป็นการป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการดูแลแบบองค์รวมทั้งทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับทุกคน Palliative care Team จะเป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชา ทั้งหมอ พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ อาสาสมัคร ฯลฯ มาร่วมกันเป็นทีมพี่เลี้ยง เพื่อให้ผู้ป่วยได้กลับไปใช้ชีวิตเต็มที่ที่บ้านตามต้องการ และครอบครัวก็สามารถดูแลผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรู้ความจริงว่า รักษาไปก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย แค่อาจยืดชีวิตไปได้บ้างเท่านั้น เขาจะเลือกกลับไปใช้ชีวิต เพราะผู้ป่วยมักจะเข้าใจในสัจธรรมและรับได้ว่าเวลามีจำกัด ฉะนั้นการเลือกใช้ชีวิตเต็มที่ จึงดีกว่าการเสียเวลาในโรงพยาบาล และในการพยายามยื้อความตายด้วยเทคโนโลยีนั้น ผู้ป่วยก็จะต้องอดทนและเจ็บตัวในสิ่งที่เขาอาจไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่มีคนอื่นเลือกให้แทน ด้วยความปรารถนาดี นอกจากจะเป็นการทรมานต่อผู้ป่วยแล้ว บ่อยครั้งยังเป็นการสร้างปัญหาระยะยาวให้กับครอบครัวด้วย เพราะการยื้อชีวิตในช่วงสุดท้ายต้องทุ่มเททรัพย์สินเงินทองอย่างมากมายไปกับการรักษาในโรงพยาบาล ที่อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ก่อให้เกิดหนี้สิน นั่นเพราะเราลืมไปแล้วว่า..ความกตัญญูไม่ได้มีรูปแบบเดียว การให้โอกาสผู้ป่วยได้ออกแบบความตายด้วยตัวของเขาเอง อาจเป็นความกตัญญูในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการอนุญาตให้ช่วงสุดท้ายของชีวิต ดำเนินไปตามธรรมชาติ โดยมีหมอและพยาบาลประคับประคอง ช่วยบำบัดความปวดให้กับผู้ป่วย ให้เขาได้จากไปอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่ทุกข์ทรมาน ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ Palliative care อาจเป็นคำตอบหนึ่งให้ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และวงการสาธารณสุขของไทยก็เป็นได้

10.ตอน คำถามคาใจ

หลายประเด็นที่คนไข้คิด อาจไม่ตรงกับความจริงที่หมอเป็น ความจริงที่คนไข้ส่วนหนึ่งยังไม่รู้คือ หมอในโรงพยาบาลรัฐ 1 คน อาจต้องตรวจรักษาคนไข้วันละเป็นร้อยๆ คน หมอมาทำงานแต่เช้าตรู่ แต่ต้องขึ้นไปตรวจคนไข้ในให้หมดก่อน จึงจะสามารถลงมาตรวจคนไข้นอกได้ สิ่งนี้ทำให้หมอมีเวลาน้อย เพราะแค่ตรวจวินิจฉัยโรคคนไข้ก็แทบจะหมดเวลาแล้ว จึงอาจทำให้หมอสื่อสารกับคนไข้น้อยเกินไป ต้องยอมรับว่าโรคบางโรคสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ยาก รวมทั้งกระบวนการตรวจวินิจฉัยก็มีความซับซ้อน ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจจริงๆ โดยเฉพาะระยะการแสดงของตัวโรค เช่น มาตรวจวันนี้อาจฟันธงชี้ชัดอะไรไม่ได้เลย ต่างกับการตรวจซ้ำในอีก 2 วันข้างหน้า นั่นเพราะร่างการมนุษย์มีความซับซ้อน การแสดงอาการของโรคในช่วงเวลาต่างกัน จะทำให้การวินิจฉัยได้ผลต่างกัน หรือ อาจมีโรคเพิ่มเติมบางโรคที่ในระยะแรกไม่แสดงอาการ สิ่งนี้จึงเป็นประเด็นให้คนไข้ตั้งคำถามในใจอยู่เสมอ ถ้าปัญหาทั้งหลายส่งผลมาจากมีหมอไม่พอกับคนไข้ “แล้วทำไมไม่ผลิตหมอเพิ่มให้เพียงพอหล่ะ” คำตอบคือ ในรอบ 20 ปีมานี้ ผลิตหมอได้เพิ่มขึ้น 3.5 เท่าแล้ว แต่คนไข้กลับเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2560 มีผู้ป่วยนอกเข้ารับการรักษาถึง 184 ล้านครั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนแล้วว่า การเจ็บป่วยและเสียชีวิตในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable diseases) กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหลักของประชากรโลก สำหรับในประเทศไทย NCDs คือสาเหตุการเสียชีวิตถึง 75% ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ เรามีคนไข้ที่ป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ทั้งเบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดันโลหิตสูง และอ้วนลงพุง ฯลฯ เพิ่มหมอ ลดคนไข้ สื่อสารกันมากขึ้น แก้ปัญหาเชิงระบบให้ดีขึ้น คือทางออกที่ทุกคนช่วยกันได้จริงๆ เมื่อเราร่วมมือกันและเข้าใจกัน

11.ตอน ระเบิดเวลา

ในอนาคตอันใกล้นี้ คุณอยากเป็นผู้สูงอายุแบบไหน จะแก่อย่างมีคุณภาพ หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง เหลืออีกเพียง 4 ปี ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งก็คือ เราจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% หรือคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 13.4 ล้านคน ซึ่งนั่นแปลว่าเราจะต้องมี “คนป่วย” มากขึ้นตามสัจธรรมธรรมชาติ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากคือ สาเหตุการเจ็บป่วยส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สั่งสมมาตลอดของเราเอง เกิดเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ ซึ่งก็มักจะเรื้อรัง หรือเรียกกันว่า โรค NCDs” (Non-communicable diseases) ซึ่งเป็นโรคที่เราค่อยๆ สะสมความเสี่ยง จากการใช้ชีวิตที่ทำลายสุขภาพไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นโรคฮิต 4 กลุ่มคือ 1.กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด 2.กลุ่มโรคเบาหวาน 3.กลุ่มโรคมะเร็ง และ 4.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นโรคทีทำลายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ทั้งผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุและไม่ใช่ผู้สูงอายุ และอาจจะทำให้คุณกลายเป็น “ผู้ป่วยติดเตียง” ฉะนั้นวันนี้คุณอาจถอดสลักระเบิดเวลาตัวคุณเองได้ทัน มาเริ่มต้นวางแผนเพื่อเตรียมตัว “แก่” อย่างมีคุณภาพกันเถอะ ด้วย 5 วิธีนี้ 1. ดูแลอาหารและพฤติกรรม ไม่หวาน ไม่เค็ม ไม่มัน ไม่เหล้า ไม่บุหรี่ ลดความเสี่ยงเป็นคนแก่ติดเตียง 2. ออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้ เพื่อป้องกันสารพัดโรค NCDs โดยเฉพาะคนโสดที่ไม่มีใครดูแล 3. เก็บออมเงินทอง สำหรับใช้จ่ายในชีวิตบั้นปลาย เพราะแก่แล้วไม่มีแรงทำงาน 4. หมั่นทำงานจิตอาสา ความสุขจากการเป็นผู้ให้ จะช่วยให้ “แก่” อย่างเบิกบาน 5. เตรียมบ้านให้พร้อมกับวัย บ้านสวยแต่ปีนขึ้นไม่ไหว คงต้องวางแผนปรับปรุง แก่อย่างมีคุณภาพ คือ แก่อย่างมีความสุข ด้วยมีสุขภาพแข็งแรง สร้างประโยชน์ให้สังคม และพึ่งตนเองได้

12.ตอน กว่าจะเป็นหมอ

หมอ..เป็นวิชาชีพที่ เรียนยาก ทำงานเหนื่อย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค! แต่..ทำไมจึงยังมีคนอยากจะเป็นหมอ จะเห็นว่า..นักศึกษาแพทย์ที่แม้จะเรียนหนังสือเก่ง แต่หากไม่ได้ตัดสินใจเลือกเรียนหมอเพราะใจรัก สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็มักจะไปต่อไม่ไหว เช่นเดียวกับกลุ่มที่เรียนหมอเพราะพ่อแม่เลือกให้ นอกจากจะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สติปัญญาที่มากพอ จิตใจที่หนักแน่น มีสติพร้อมเผชิญความยากลำบากแล้ว คนที่จะเป็นหมอได้อย่างยั่งยืน ยังจะต้องมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Passion หรือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นหมอ เพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น เพราะการได้รักษาคนป่วยให้หาย ทั้งจากโรคและความทุกข์ทรมาน มันคือความภูมิใจอย่างยิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ ความมุ่งมั่นตั้งใจในอาชีพของตนนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีในการทำงานทุกวิชาชีพ แต่สำหรับนักศึกษาแพทย์เด็กๆ ความมุ่งมั่นจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เมื่อพวกเขาได้สัมผัสกับความเมตตาของ “อาจารย์ใหญ่”และญาติ ผู้ยินยอมอุทิศร่างกายให้พวกเขาได้ผ่า ตัด หั่น อย่างไรก็ได้ เพื่อเป็นรากฐานความรู้ที่มากกว่าในตำรา มีข้อมูลหนึ่งที่น่าประทับใจอย่างยิ่งคือ ประเทศไทยมีผู้บริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่มากที่สุดในทวีปเอเชีย นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า คนไทยนั้นมีจิตใจเมตตาและมีศรัทธาต่อวิชาชีพแพทย์ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจ ให้คนเป็นหมอมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติที่พร้อมในการเป็นหมอที่ดี ดั่งปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา ที่ว่า “คุณลักษณะของการเป็นแพทย์นั้นคือความเชื่อถือและไว้ใจได้ 1. ท่านต้องมี #ความเชื่อในความสามารถของตนเอง คือความมั่นใจ 2. ท่านต้องมี #ความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือความเป็นปึกแผ่น 3. ท่านต้องได้ #ความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือความไว้ใจของคณะชน คุณสมบัติสามประการนี้ เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์”